วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

บทความ เรื่อง นโยบายประชานิยม: ผลกระทบและแนวทางการรับมือ



          นโยบายประชานิยมแตกต่างจากนโยบายรัฐสวัสดิการใน 3 ประเด็น คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมและยั่งยืนของประชาชน และภาระทางการคลัง โดยนโยบายประชานิยมเป็นนโยบายระยะสั้นที่ใช้เป็นเพียงกลยุทธ์เอาใจประชาชนเพื่อการสร้างคะแนนนิยมของนักการเมืองเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง โดยโครงการจากนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่มีความคุ้มค่าน้อย เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชน  ผู้มีรายได้น้อย โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นต้น โดยมาตรการสำหรับการหลีกเลี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมรวมทั้งการขยายตัวของนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและการพยุงสินค้าเกษตรควรเน้นที่ความต้องการจำเป็นที่แท้จริงของเกษตรกร (2) นโยบายด้านการศึกษาต้องส่งเสริมการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (3) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ไปกับความต้องการจำเป็นและการคัดกรองประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และ (4) นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ควรส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน


บทความ เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต:ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด



มูลเหตุจูงใจสำคัญของการทุจริตติดสินบนเพื่อให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนดมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเปิดช่องให้มีการทุจริตอยู่ที่ระบบการตรวจชั่งน้ำหนักที่ต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ได้ผลคือการลดปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยการนำเอาเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักระบบอัตโนมัติได้แก่ WIM (Weigh-in-motion) และ BWIM (Bridge Weigh-in-motion) มาใช้ควบคู่กับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบรรทุกน้ำหนักเกินตามข้อมูลน้ำหนักรถจากการตรวจชั่งน้ำหนักด้วยระบบอัตโนมัติ แนวคิดนี้นอกจากสามารถลดปฏิสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐลงได้แล้ว ยังจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการซ่อมแซมบำรุงรักษาถนนและสะพานที่เสียหายได้

บทความ เรื่อง พฤติกรรมข้าราชการในการปฏิบัติงานตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย


        ประเด็นหลักของบทความวิชาการนี้เป็นการนำเสนอระดับพฤติกรรมข้าราชการในการปฏิบัติงานตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการและปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาของกระทรวงมหาดไทย ผลการศึกษา พบว่า ข้าราชการมีระดับพฤติกรรมในการปฏิบัติงานตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 3.65 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการ ประกอบด้วย ตัวแปรด้านปัจเจกบุคคล ได้แก่ เพศ ระดับการศึกษาสูงสุด อายุราชการ ระดับตำแหน่ง รายได้ต่อเดือน และทัศนคติต่อการเป็นข้าราชการ) และ (2) ปัจจัยด้านบริบททางสังคม ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมองค์กร ระบบการบริหารราชการ การบริหารงานของผู้บังคับบัญชา และการบังคับใช้กฎหมาย/กฎระเบียบ โดยทุกปัจจัยมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการในทิศทางบวก จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่ช่วยให้ข้าราชการมีการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการ อันได้แก่ (1) การมีจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละบุคคล  (2) การเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้บังคับบัญชา (3) วัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม (4) การสร้างแรงจูงใจของหน่วยงานโดยการยกย่องเชิดชูเป็นต้นแบบและให้รางวัลแก่ข้าราชการที่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการฯ และ(5) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงการลดการใช้อำนาจดุลพินิจของข้าราชการ 


วารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2

💡💡วารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2💡💡
📗📘เรารวบรวมข้อมูลทางวิชาการต่างๆ มากมาย รวมถึงบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน มานำเสนอให้ทุกท่านได้อ่านและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
➡️➡️คลิกอ่านได้ตามลิงค์นี้เลยนะคะ >>>วารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2